สองตายายเมืองอุบลฯ สานไซดักปลาขาย สร้างรายได้พออยู่ พอกิน
ไซ เป็นเครื่องมือประมงชนิดหนึ่งที่ทำจากไม้ไผ่ ใช้ในการดักจับปลาตามทุ่งนา ตามแม่น้ำ หรือ ห้วย หนอง คลอง บึง โดยการทำไซนี้เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่ใช้ไม้ไผ่มาจักสานสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้ เครื่องมือหรืออุปกรณ์จับปลาที่มีมาแต่โบราณ เริ่มจะหาดูได้ยากขึ้น เนื่องจากมีอุปกรณ์ในการจับสัตว์น้ำที่ทันสมัยเกิดขึ้นตามยุคแห่งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน
ดังนั้น เราควรอนุรักษ์ความเป็นไทย ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเราเอาไว้ ให้คงอยู่สืบไป ดังเช่นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยังมีคนแก่คนเฒ่าอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการสานไซขาย สร้างรายได้ให้ครอบครัว ทำให้พออยู่ พอกิน มีความเป็นอยู่สุขสบายตามอัตภาพ มาติดตามกันครับ ผู้สื่อข่าวของเราจะพาไปรู้จักพ่อเฒ่าวัย 71 ปี ที่สานไซขาย นั่นคือ พ่อคำ แก้วมุกดา อายุ 71 ปี และ แม่หนูกร แก้วมุกดา 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 61 บ้านตาติด หมู่ 3 ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี สองตายายที่เริ่มทำการสานไซ โดยการสืบทอดจากพ่อสิงห์ – แม่ขำ แก้วมุกดา มาตั้งแต่เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา
พ่อคำ แก้วมุกดา เล่าว่า ไซ เป็นอุปกรณ์ดักปลาในท้องถิ่นและยังเป็นสิ่งมงคลประจำบ้าน เอาห้อยหน้าบ้านไว้ถือว่ามีโชค มีชัยชนะ ตามความเชื่อของท้องถิ่นในหมู่บ้านที่มีมานานแสนนาน เวลาจะสร้างบ้านก็ใช้ไซเป็นของมงคลผูกติดกับเสาเอกเสาโทในเวลาที่จะเริ่มตั้งเสาแรก เสา 2 ของตัวบ้านที่กำลังจะก่อสร้างถือว่าเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งและปัจจุบันไซยังทำขนาดให้เล็กลงเพื่อนำไปห้อยที่หน้ารถข้างคนขับถือว่าไปค้าขายได้รับโชคชัย และยังเป็นของชำร่วยให้ผู้หลักผู้ใหญ่อีกด้วย
เรื่องต้นทุนผลผลิตนั้น พ่อคำ บอกว่า สำหรับต้นทุนนั้นซื้อไม้ไผ่ลำละ 50 บาท ราคาจะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความยาวของลำไม้ไผ่ บางครั้งก็ซื้อแบบเหมากอ ราคาก็ตามตกลงกับเจ้าของไม้ไผ่ราย ส่วนเรื่องได้ก็ไม่มาก แต่ก็พออยู่ พอกินตามอัตภาพ เฉลี่ยแล้วมีรายได้จากการขายไซ ตกเดือนละประมาณ 5,000 บาท โดยจะมีพ่อค้ามารับเองที่บ้าน ส่วนราคาไซ ถ้าความยาวขนาดคืบ ขายหลังละ 20 บาท ขนาดศอก หลังละ 45 บาท ขนาดแขน หลังละ 75 บาท
พ่อคำ ได้เล่าถึงอุปกรณ์ในการทำไซและขั้นตอนการทำว่า อุปกรณ์ในการทำไซก็มี 1.มีดพร้า 2.มีดปลายแหลม(ตอก) 3.ฆ้อน 4.คีม 5.กรรไกร.6.เชือกฟาง 7.แบบปากไซ ส่วนวัสดุที่ใช้ในการทำไซ ได้แก่ 1.ไม้ไผ่ใหญ่ 2.เครือยาง สำหรับขั้นตอนในการทำไซ มีดังนี้ 1.ตัดไม้ไผ่ให้ได้ตามขนาดของไซ 2.เหลาไม้ไผ่ให้พอดีตามต้องการและจักเป็นตอกด้วยใช้สำหรับรัด 3.จับเรียงให้ได้ส่วนและเข้ากรงใหญ่กรงนอกถักรัดด้วยเชือกไนล่อนเขียวหรือแดงตามขนาดพอดี(ตามภาพ) 4.เริ่มสานรัดมาทางด้านหัวไซก่อน 5.ครบแล้วถักปากไซ ได้ตามรอบที่พอดีแล้วหักออกใช้มีดปลายแหลมเกรียนให้สวย 6.รัด ถัก ไล่ลงไปด้านท้ายไซทำเป็นขั้นเรียกว่าถักกรงใน 7.ถักรัดกรงในครบ แล้วรัดถักปิดหางไซ ให้แน่นแล้วตัดแต่งด้วยมีดตอก 8.ขั้นตอนกรีดเข้าเป็นงาไซ รัดถักให้แน่นสวยงาม ส่วนขั้นตอนเข้างาไซที่ได้สัดส่วนและถูกทางที่ปลาจะเข้าไซเป็นสูตรเฉพาะแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ พ่อคำ ยังได้เล่าถึงปัญหาว่า ตอนนี้ การตลาดการขายไม่ดีเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีพ่อค้ามารับซื้อ จึงอยากจะขอฝากให้ผู้สื่อข่าวที่มาสัมภาษณ์ ช่วยเป็นสื่อในการบอกต่อให้มีพ่อค้าแม่ค้า ห้างร้าน หรือ ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือจักสานด้วยไม้ไผ่ ได้มาอุดหนุนช่วยซื้อไซที่พ่อคำ ได้อนุรักษ์จักสานสืบมาจนถึงปัจจุบัน
สุดท้าย พ่อคำ ได้บอกว่า ยินดีฝึกสอนวิธีการสานไซ ให้ผู้ที่สนใจทุกคน สอนให้ฟรี และ ยินดีต้อนรับทุกคนที่จะมาดูงานจักสานและมาช่วยซื้อ มาเป็นกำลังใจให้พ่อคำสู้ต่อไป มาได้ที่พิกัด บ้านครูภูมิปัญญาท้องถิ่น (ประเภทงานจักสานไม้ไผ่) บ้านเลขที่ 61 บ้านตาติด หมู่ 3 ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
/////////////////////// ทีมข่าวจ.อุบลฯ / รายงาน.