เมื่อวันที่23 สิงหาคม 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย
โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการอย่างจริงจัง กรมศุลกากรจึงเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด ซึ่งนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้า – ส่งออกยาเสพติดในทุกช่องทาง และบูรณาการด้านการข่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือ ด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และ The Ministry of Justice Investigation Bureau (MJIB) มาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ พร้อมชุดปฏิบัติการ SITF ได้ทำการวิเคราะห์ใบขนสินค้าขาออกที่มีความเสี่ยงลักลอบส่งออกยาเสพติดทางท่าเรือกรุงเทพ พบใบขนสินค้าต้องสงสัยระบุปลายทางประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สำแดงชนิดสินค้าเป็น
ของประดับบ้านทำด้วยซีเมนต์ (CEMENT WARE:-CAT,GIRAFF,DEER,GOAT,FOUNTAIN) จำนวน 2 ลัง จึงประสาน ป.ป.ส. และ บช.ปส. เพื่อทำการตรวจสอบ เมื่อเปิดกล่องพัสดุพบตุ๊กตาทำด้วยซีเมนต์รูปสัตว์ต่าง ๆ และน้ำพุ จำนวนรวม 12 ชิ้น หลังจากตรวจสอบโดยละเอียดพบว่า ภายในรูปปั้นยีราฟมีถุงพลาสติกใสบรรจุวัตถุต้องสงสัยมีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่นจำนวน 1 ถุง น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 0.5 กิโลกรัม และบริเวณฐานของรูปปั้นแมว 2 ชิ้น ภายในมีถุงพลาสติกใสบรรจุวัตถุต้องสงสัยมีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น จำนวนรวม 12 ถุง น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 30 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่จึงนำตัวอย่างวัตถุต้องสงสัยมาทดสอบด้วยน้ำยาเคมี ONCB 051 MARQUIS REAGENT ให้ผลเปลี่ยนจากสีใสไม่มีสีเป็นสีน้ำตาลและสีดำ จึงสรุปได้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม ทั้งหมด 30.5 กิโลกรัม มูลค่า 30.50 ล้านบาท จึงนำของกลางทั้งหมดส่ง บช.ปส. เพื่อทำการสืบสวนและขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดต่อไป
การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และเป็นความผิดตามมาตรา 244 252 ประกอบมาตรา 166 และ167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบันการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดจะมีวิธีการซุกซ่อนที่แนบเนียนในการขนส่ง เจ้าหน้าศุลกากรจึงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบ รวมถึงต้องหาข่าวและรวบรวมข้อมูลการข่าวในการวิเคราะห์ความเสี่ยงตลอดจนการปฏิบัติงานแบบบูรณาการระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้มีผลการจับกุมยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 ถึง 22 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 126 คดี มูลค่ารวม 998.98 ล้านบาท