หน้าแรกทั่วไปอุบลฯทำบุญตักบาตร น้อมรำลึกครบรอบ 75 ปี มรณกาล “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”

อุบลฯทำบุญตักบาตร น้อมรำลึกครบรอบ 75 ปี มรณกาล “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”

กดที่นี่เพื่ออ่านข่าว

อุบลฯทำบุญตักบาตร น้อมรำลึกครบรอบ 75 ปี มรณกาล “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”

วันนี้ (11 พ.ย.67 )  เวลา 07.00 น . เป็นต้นไป ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมงานมรณกาลรำลึก 75 ปี หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  โดยมูลนิธิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 150 ปี ชาตกาล จังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดจัดขึ้น  โดยมีการจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรม  ทำบุญตักบาตร พระสงฆ์-สามเณร จำนวน 75 รูป และถวายภัตตาหารเช้า เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงหลักธรรม คำสอน  และเป็นโอกาสให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาชีวประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  น้อมรำลึกครบรอบ 75  ปี (11 พ.ย. 2567)  มรณกาล “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” พระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม

ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมี พระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น)

สกุลเดิม แก่นแก้ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ม.ค.2413 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดที่บ้านคำบง ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีพี่น้อง 6 คน ท่านเป็นคนโต อาชีพทำนาทำไร่เป็นพื้นฐาน

การศึกษา ท่านอาศัยอา (น้องพ่อ) เป็นผู้สอนให้ ด้วยในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน ท่านเรียนอักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมจนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างรวดเร็ว

อายุ 15 ปี บรรพชาที่วัดบ้านคำบง อันเป็นวัดบ้านเกิด ขณะบวชเณร ศึกษาธรรมะและพระสูตรต่างๆ จนแตกฉาน อายุ 17 ปี บิดาขอร้องให้สึกเพื่อให้ไปช่วยทำงาน ท่านจึงสึกตามคำขอร้อง ทั้งที่เสียดายในการลาจากเพศบรรพชิตเป็นที่สุด ถึงกับรำพึงในใจ “หากมีโอกาสเมื่อใดก็จะกลับเข้ามาบวชอีก”

ทั้งยังคิดถึงคำของผู้เป็นยายที่เคยกล่าวในตอนเป็นเด็กอยู่เสมอว่า “เมื่อโตขึ้นต้องบวชให้ยายนะ เพราะยายเลี้ยงยาก”

เมื่อออกมาช่วยงานพ่อ-แม่นานพอสมควรแล้ว เห็นว่าสมควรที่จะกลับเข้าไปบวชอีก จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์กับ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดศรีทอง หรือวัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2436 มีพระอริยกวี (หลวงพ่ออ่อน) เป็น พระอุปัชฌาย์, พระครูสีเทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (หลวงพ่อสุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า ภูริทัตโต

หลังอุปสมบท อยู่จำพรรษากับหลวงปู่เสาร์ที่วัดเลียบในตัวเมืองอุบล หลวงปู่เสาร์ สอนวิธีเจริญกัมมัฏฐานขั้นสมถะใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” เป็นหลัก จนสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผล และสอนผู้อื่นให้เข้าใจ

ในที่สุดท่านก็ออกเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาสัจธรรม ตามป่าเขาลำเนาไพร ท่านไปปฏิบัติธรรม ณ ที่ใดก็จะเทศนาอบรมสั่งสอนที่นั่น จนมีศิษย์สายพระกรรมฐานทั่วทุกภาคของประเทศไทย

การเดินธุดงค์ของหลวงปู่มั่น ไม่ยึดติดสถานที่ ท่านไปอยู่ภาวนาในที่หลายแห่ง ที่ภาคเหนือท่านอยู่ถึง 12 ปี จนได้รับแต่งตั้งให้เป็น “พระครูวินัยธร” ฐานานุกรมของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) สมัยที่ท่านจำพรรษาอยู่จังหวัดเชียงใหม่

พอออกจากเชียงใหม่ หลวงปู่มั่น ของดในการปฏิบัติตามตำแหน่งหน้าที่ เพราะท่านมีจิตมุ่งมั่นในการปฏิบัติเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานฝ่ายเดียว

ในปี พ.ศ.2484 หลวงปู่มั่น ธุดงค์มายังภาคอีสาน และปักหลักจำพรรษาอยู่ที่ชายป่าบ้านนามน ต่อมาในปี พ.ศ.2487 ท่านมาอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน บั้นปลายชีวิตของท่านมาจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

คติธรรมคำสอนให้ศิษย์เพื่อไว้เตือนสติ 2 ข้อ คือ

  1. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
  2. ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตนเพราะตนเองเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

คติธรรมอีกบทหนึ่งที่หลวงปู่มั่นได้เทศนาสอนอยู่เสมอ ซึ่งเป็นคำกลอนภาษาอีสานว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาก้นย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภาพทั่งสามภพทั่งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่”

ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร สิริอายุ 79 ปี พรรษา 56

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562 ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 40 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี 2563-2564 และได้ประกาศได้ยกย่อง “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ

//////////////////////////////////////////////

Ad 1
Ad 2