หน้าแรกประชาสัมพันธ์ผู้ว่าฯ ปทุมธานี เปิดโครงการมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนจังหวัดปทุมธานี กำหนด 6 มาตรการช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

ผู้ว่าฯ ปทุมธานี เปิดโครงการมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนจังหวัดปทุมธานี กำหนด 6 มาตรการช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

กดที่นี่เพื่ออ่านข่าว

วันนี้ (19 ก.ย.67) เวลา 09.00 น. ที่ หอประชุมจงกลพรหมพิจิตร แกรนด์ฮอลล์ โรงเรียนปทุมวิไล อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิดโครงการมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนจังหวัดปทุมธานี โดยมี นายประสิทธิ์ ไชยเวช ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ. เขต 1 ปทุมธานี นางสาวกันตรัตน์ เริ่มสูงเนิน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นางสาวสุพีพร โมรา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผกก.สภ.เมืองปทุมธานี นางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอเมืองปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

จากข้อมูลการบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุ 3 ฐาน ของจังหวัดปทุมธานี (ข้อมูลจาก กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) พบว่าในปี พ.ศ.2566 จังหวัดปทุมธานีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 1,857 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ (Admit) จำนวน 1,619 ราย และเสียชีวิต จำนวน 352 ราย โดยยานพาหนะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ และพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่พบ คือ ไม่เคารพกฎจราจร ซึ่งมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ จำนวน 21 ครั้ง

ในขณะที่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้จังหวัดดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ โดยการกำหนดมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด ตามกรอบแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ พร้อมจัดทำสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อประกาศให้บุคลากรในส่วนราชการทราบแนวทางการดำเนินการตามมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนภายในส่วนราชการ

จังหวัดปทุมธานี โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน จัดทำโครงการมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนจังหวัดปทุมธานี โดยมีการกำหนดมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ของบุคลากร เจ้าหน้าที่ของรัฐ 6 มาตรการ ได้แก่
1. รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย และรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย 100% ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
2. ทางข้าม ทางม้าลาย ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย
3. รถรับ – ส่งนักเรียน ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย
4. การจัดการจุดเสี่ยงอุบัติเหตุครอบคลุมทุกพื้นที่
5. การจัดทำ พ.ร.บ. ภาคบังคับ
6. หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ สถานประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง แจ้งบุคลากร/เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปคาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ซ้อนและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากรและประชาชนทุกกลุ่ม ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

Ad 1
Ad 2