หน้าแรกการเมืองเปิดคำวินิจฉัย "ศาลรธน". สั่งยุบ "พรรคก้าวไกล" ฉบับเต็ม

เปิดคำวินิจฉัย “ศาลรธน”. สั่งยุบ “พรรคก้าวไกล” ฉบับเต็ม

กดที่นี่เพื่ออ่านข่าว

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำวินิจฉัย”ศาลรัฐธรรมนูญ” สั่งให้”ยุบพรรคก้าวไกล” ปมรณรงค์หาเสียงแก้ไข”มาตรา 112″ ฉบับเต็ม

วันที่ 5 กันยายน 2567 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา “ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ยุบพรรคก้าวไกล กรณีรณรงค์หาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ฉบับเต็ม จำนวน 34 หน้า

ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย คดียุบพรรคก้าวไกล สืบเนื่องจากถูกร้องว่ากระทำการล้มล้างการปกครองฯ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ) มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) ใจความว่า

ประเด็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดียุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่ามีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 210 กำหนดอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า (1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ (3) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในมาตรา 210 วรรคท้าย ระบุให้นำความตามมาตรา 188 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในมาตรา 188 วรรคหนึ่ง ระบุว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เจตนารมณ์ในการคุ้มครองและปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด ย่อมแสดงออกโดยการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้กับประชาชนและให้อำนาจศาลสั่งยุบพรรคการเมืองได้หากมีข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลหรือพรรคการเมืองจะใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯ

แม้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 จะไม่ได้ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำวินิจฉัยและสั่งยุบพรรคการเมืองได้

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

เมื่อข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 รับฟังได้ว่า พรรคก้าวไกลผู้ถูกร้องกระทำการล้มล้างการปกครองฯ ย่อมเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ด้วย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า คำว่าเป็นปฏิปักษ์ ไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนให้เป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะขัดขวาง สกัดกั้นไม่ให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือทำให้อ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์แล้ว

การนำสถาบันพระมหากษัตริย์ไปใช้เพื่อความได้เปรียบและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง จึงเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ว่าการใช้นบายการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาขน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายหรือทำให้อ่อนแอลง การกระทำของผู้ถูกร้อง จึงเข้าลักษณะเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเคร่งครัด ระมัดระวัง ให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ ความรุนแรงของพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อฝืนพ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) กฎหมายดังกล่าวต้องใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับเดียวกัน อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน อันเป็นพฤติการณ์และข้อกฎหมายที่ได้สัดส่วนและจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อหยุดยั้งการทำลายพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 211 วรรคสี่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แม้นักวิชาการสาขาต่างๆ นักการเมือง หรือนักการทูตต่างประเทศ ต่างก็มีรัฐธรรมนูญ กฎหมายภายในประเทศ ข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความคิดใดๆ ย่อมต้องมีมารยาททางการทูตและการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน

กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องกระทำการตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 – 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง และห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้จดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอีก ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่พรรคถูกยุบ ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 วรรคสอง.

 

Ad 1
Ad 2
pratipon47
pratipon47http://www.เรื่องจริงผ่านเลนส์.online
ผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการ