สำนักงานน้ำทรัพยากรณ์น้ำแห่งชาติรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 3 กันยายน 2567 รายละเอียดดังนี้
1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.อุทัยธานี (85) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.หนองบัวลำภู (96)
ภาคกลาง : จ.สมุทรปราการ (99) ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี (160) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (103 มม.) ภาคใต้ : จ.พังงา (149)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทย มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
คาดการณ์ :.ช่วงวันที่ 4-7 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
สำหรับพายุโซนร้อน “ยางิ” (YAGI) ที่ปกคลุมประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย. 67 โดยไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 62% ของความจุเก็บกัก (50,124 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 45% (25,942 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 ก.ย.67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3 – 9 ก.ย. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
– พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
– เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
– เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
4. สถานการณ์น้ำ : เนื่องจากมีปริมาณน้ำสะสมไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในอัตราที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ กรมชลประทานจึงได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา และปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,450 ลบ.ม./วินาที และประสาน กฟผ.พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ร่วมกับปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยลดภาระการระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่าง
ทั้งนี้ จากปริมาณน้ำเหนือที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,500 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา(แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นอีก
5. สถานการณ์น้ำท่วม : สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 2 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.แม่สาย เทิง ขุนตาล เวียงแก่น และแม่สรวย) จ.ลำปาง (อ.แจ้ห่ม และงาว) จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ) จ.พะเยา (อ.เมืองฯ และดอกคำใต้ ) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง ศรีนคร และกงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ บางระกำ บางกระทุ่ม ชาติตระการ และพรหมพิราม) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา เสนา บางบาล ผักไห่ บางไทร และบางปะอิน ) และ จ.หนองคาย (อ.เมืองฯ สังคม ศรีเมืองใหม่ ท่าบ่อ และรัตนวาปี)