ที่หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมเสวนา “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านการบริหารจัดการขยะ” มี ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิตรองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ด้าน นางสาวกาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี ท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี ประธานคณะทำงาน ขับเคลื่อนด้านการจัดการของเสีย กล่าวว่า จังหวัดสระบุรี ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กำหนดเสวนา “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านการบริหารจัดการขยะ” เพื่อสรุปผลการดำเนินการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับการบริหารจัดการขยะ และนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการ ภายโครงการ สระบุรี คาร์บอนต่ำ” (Saraburi Sandbox) เพื่อให้เกิดการบูรณาการ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคและภาคประชาชน โดยมีผู้ร่วมเสวนา
ในเรื่องการลดภาวะโลกร้อน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังได้ร่วมกับทุกจังหวัดส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันมีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ให้สามารถจำหน่ายได้กว่า 1.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในราคาตันละ 260 บาท และเงินรายได้กลับคืนสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ และล่าสุด หอการค้าไทย ร่วมกับ TCEB และกลุ่มเซ็นทรัล ได้มีการจัดทำ Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Neutrality 4 ALL) เพื่อสนับสนุนการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองดังกล่าว
โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผน สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง ขับเคลื่อนขยายผลแนวทางการดำเนินการ “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” และเรื่องโรงเรียนไร้ขยะ โดยถอดบทเรียนความสำเร็จควบคู่การประมวลแนวทางการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติของภาคราชการ ตลอดจนการประกอบการของผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ รวมถึงภาคเกษตรกรรม และจัดทำเป็นคู่มือ (Cookbook) ให้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อพิจารณาดำเนินการตามสภาพภูมิสังคมของพื้นที่ และสร้างความรับรู้เข้าใจ รณรงค์ให้ทุกภาคีเครือข่าย ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน/หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จภาพรวมทั้งประเทศ อันจะทำให้เกิดความยั่งยืนของชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมตลอดไป
สมภพ พิมมะศร