วันที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมเสวนา การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด สร้างคุณค่าใหม่ ด้วยพลังแห่งความร่วมมือ”
มีดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย นายกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (กิจการองค์กร) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายยุทธพง ตันเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดร.ธนิต ใจสะอาด ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและควบคุมอาคารกรมโยธาธิการและผังเมือง นางธาราพร สิงหพันธุ์ มหิทธาฟองกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจและศักยภาพที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ นายวศวรรธน์ นาคนวล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานสระบุรีกรมชลประทาน ดำเนินการเสวนาโดย รศ. ดร. ศิริโรจน์ ศิริสุขประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยภาคส่วนพลังงานเป็นอีกส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ให้จังหวัดสระบุรีมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายร่วมกัน และข้อเสนอต่างๆจากการเสวนาในครั้งนี้ จะถูกรวบรวมกับ sector อื่นๆเพื่อส่งต่อให้กับนายกรัฐมนตรี ในงาน ESG symposium ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์
การขับเคลื่อน “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” ซึ่งมีที่มาจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 ด้วยศักยภาพของจังหวัดสระบุรีที่มีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน เรียกได้ว่า “ทำงานเป็น Parnership ร่วมกัน” จึงเป็นที่มาของการที่ TCMA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดเลือกให้จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดนำร่องในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย
ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้นำภาคีเครือข่ายร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เป็นองค์กรต้น ๆ อย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณจังหวัดสระบุรี โดยเฉพานายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนงาน “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” ด้วยกันอย่างแข็งขัน ซึ่งตลอด 1 ปี ส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสร้างอาชีพให้กับประชาชนในชุมชน อาทิ การจัดทำ Solar ในบริเวณลานจอดรถของศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี ทำให้สามารถลดค่าไฟให้กับส่วนราชการ และยังผลทำให้มีพลังงานสีเขียว ทั้งนี้ ผลสำเร็จของงานไม่สำคัญเท่ากับกระบวนงานที่เราได้ทำงานร่วมกัน จนทำให้โครงการเดินหน้าได้โดยความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขที่สำคัญภายหลังจากกระทรวงมหาดไทยได้ส่งเสริมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 2019 ลดลงจากปี 2015 ที่มีจำนวนร้อยละ 27.93 คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) เหลือเพียงร้อยละ 22.10 และยังพบว่าในภาพรวมประเทศไทย มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) มากถึงร้อยละ 90 เหลือยังคงใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์เพียงร้อยละ 10 และเชื่อว่าประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศแรกที่ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Low Carbon Cement) หรือปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน 100% ในเร็ว ๆ นี้ และในด้านพลังงานยังพบว่า “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” สามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานสะอาด โดยสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่า 100,000 เมกะวัตต์ ทั้ง ๆ ที่มีความต้องการใช้พลังงานเพียง 30,000 เมกะวัตต์ ด้วยมีพื้นที่ว่างที่สามารถใช้ในการเพิ่มพูนการผลิตพลังงานได้เป็นจำนวนมาก
สมภพ พิมมะศร