ด่วน! พบแล้วหัวรถ ผู้ประสบภัย ติดภายใน อุโมงค์รถไฟดินถล่ม จ.นครราชสีมา หลังทำการขุดเจาะชั้นหิน ยังไม่พบตัวคน แต่ยังตรวจเจอสัญญาณชีพลึก 3 ฟุต
เข้าสู่วันที่ 5 สำหรับปฏิบัติการการค้นหา ผู้ประสบภัย 3 ราย ที่ติดอยู่ใน อุโมงค์รถไฟดินถล่ม จ.นครราชสีมา ภายหลังเกิด ดินถล่ม เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 24 ส.ค. 2567 ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกมายืนยันว่า พบรถของผู้ประสบภัยหลังทำการขุดเจาะชั้นหิน ซึ่งไม่พบตัวผู้ประสบภัย แต่ตรวจพบ สัญญาณชีพ ที่อยู่ลึกลงไป 3 ฟุต
เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. มีรายงานว่า คนงานสามารถขุดดิน และเจาะปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นโครงสร้างของอุโมงค์รถไฟฟ้าความเร็วสูง จนไปพบเข้ากับ รถดั้ม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ทีมกู้ภัย ทีมวิศวกรเจ้าของโครงการ และทีมแพทย์ ต้องออกมาประชุมร่วมกันที่บริเวณศูนย์อำนวยการร่วม เพื่อวางแผนนำตัวผู้ประสบภัยรายแรกออกมาจากจุดเกิดเหตุ
โดย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เผยว่าได้รับรายงานว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าเจาะหิน จนมาเจอกับคอนกรีต และได้ทำลายจนสำเร็จนั้น ทีมช่วยเหลือ ได้พบกับ รถดั้ม สีเหลือง แต่ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เนื่องจาก รู มีขนาด 20 เซนติเมตร ซึ่งเล็กเกินไป จำเป็นต้องใช้กล้องส่องในเชิงลึกแทน ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ประสบภัยอยู่ด้านในรถ
และเมื่อใช้เครื่องแสกนหาสัญญาณ หรือ เครื่องสแกนหาความเคลื่อนไหว พบถัดไปในความลึก 3 ฟุต บริเวณใต้ท้องรถ มีสัญญาณชีพ หรือความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต ปรากฏอยู่ เชื่อ ขณะเกิดเหตุ ผู้ประสบภัย ได้ตัดสินใจหลบอยู่บริเวณใต้ท้องรถ เพราะถูกฝึกมา เบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่พบว่า ผู้ประสบเหตุ ได้ส่งสัญญาณใดตอบกลับมา นายชัยวัฒน์ บอกว่า ขั้นตอนจากนี้ ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ หาแนวทางเปิดรูดังกล่าว เพื่อลำเลียงผู้ประสบภัยคนที่ 1 ออกมา พร้อมเตรียมความในเรื่องนำ ผู้ประสบภัยไปโรงพยาบาล ด้วยทางรถหรือ ทางอากาศ อุปสรรคสำคัญที่ต้องระวังที่สุด คือ เรื่องดินที่อาจสไลด์ลงมา หวังวันนี้จะมีข่าวดี
โดยช่วงเวลา 07:00 น. ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จุดปฎิบัติการของไทยเริ่มขนอุปกรณ์ช่วยเหลือ อาทิ เครื่องตัดถ่าง เครื่องวัดสัญญาณชีพ เข้าด้านในอุโมงค์ หลังได้รับรายงานให้ช่วยแสตนด์บายเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นส่วนแผนปฎิบัติงานวันนี้ ยังคงใช้รูปแบบการสร้างอุโมงค์ขนาดเล็กอยู่ รวมไปถึงเช้าวันนี้มีการสร้างอุโมงค์ขนาดเล็กต่อเติมเพิ่มออกไป เนื่องจากเกรงจะรับน้ำหนักของ หิน ดิน ทรายไม่ไหว และที่สำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจ และความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานที่จะลำเลียงผู้ประสบภัยออกมาหากสามารถเข้าถึงตัวได้แล้ว.