นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงกรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ขออนุญาตทุบรื้อสะพานข้ามแยก 3 แห่ง เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้แก่ สะพานข้ามแยกถนนสุทธาวาสตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ สะพานข้ามแยกราชเทวี และสะพานข้ามแยกประตูน้ำ ว่า สนย. อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนและมาตรการป้องกันผลกระทบและความเหมาะสมด้านการจราจรช่วงระหว่าง การก่อสร้าง ซึ่ง รฟม. จะต้องดำเนินการมาตรการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับการสัญจรของประชาชนและเป็นไปตามที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พร้อมทั้งบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบด้านฝุ่นละออง สิ่งแวดล้อม การจราจร ฯลฯ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงแผนการล้อมย้ายต้นไม้ใหญ่ในแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า รฟม. ได้ขออนุญาตขุดล้อมต้นไม้และรื้อย้ายสาธารณูปโภคในจุดที่ รฟม. กำหนดจะก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ไปยังสำนักงานเขตและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานเขตดุสิต สำนักงานเขตพระนคร สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สำนักงานเขตราชเทวี สำนักงานเขตบางกอกน้อย และสำนักสิ่งแวดล้อม โดยให้ปฏิบัติตามขั้นตอนและแนวทางการอนุญาตล้อมย้ายต้นไม้ของ กทม. เพื่อการก่อสร้างที่ กทม. กำหนด รวมถึงติดประกาศประชาสัมพันธ์การล้อมย้ายต้นไม้ในจุดก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าของ รฟม. ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า
นอกจากนี้ สสล. ได้กำหนดเงื่อนไขการรับมอบต้นไม้จากการล้อมย้ายให้ รฟม. นำไปปลูก หรือพักฟื้นในสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสม โดย รฟม. ต้องล้อมย้ายต้นไม้ให้ถูกต้องตามหลักรุกขกรรมและมีรุกขกรอาชีพที่มีประสบการณ์การล้อมย้ายต้นไม้ใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมการล้อมย้ายต้นไม้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตัดแต่ง เพื่อเตรียมการขุดล้อม การขนย้าย การเตรียมตุ้มดิน การห่อตุ้มดิน และการขนย้ายตามความเหมาะสมกับขนาดต้นไม้ เพื่ออัตราการรอด การนำไปปลูก หรือพักฟื้นในสถานที่ใหม่ รวมทั้งค้ำยันต้นไม้ให้มั่นคงแข็งแรงในสถานที่ที่สำนักงานเขต หรือ สสล. รับผิดชอบต้นไม้นั้น ๆ กำหนด ซึ่ง สสล. ได้ประสานสำนักงานเขต เพื่อแจ้งเงื่อนไขการอนุญาตให้ล้อมย้ายต้นไม้แก่ รฟม. ผู้รับผิดชอบล้อมย้ายต้นไม้รับทราบและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ ได้กำหนดเงื่อนไขการรับมอบต้นไม้ล้อมย้ายจากการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงดังกล่าว ให้ รฟม. ปฏิบัติ ประกอบด้วย รฟม. ต้องมีรุกขกรอาชีพที่มีความรู้และประสบการณ์ควบคุมงานการล้อมย้ายต้นไม้ หรือขนย้ายต้นไม้ ขุดล้อมย้าย นำไปปลูกพร้อมค้ำยันให้มีความมั่นคงแข็งแรง และดูแลรดน้ำจนกว่าต้นไม้จะอยู่รอดได้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี พร้อมทั้งเปลี่ยนไม้ค้ำยันหากชำรุด ให้ รฟม. จัดทำรายการพร้อมภาพถ่ายสภาพต้นไม้ที่ล้อมย้ายนำไปพักฟื้น หรือนำไปปลูก ณ สถานที่กำหนด เมื่อรุกขกรของผู้รับผิดชอบการล้อมย้ายต้นไม้ ได้ปลูกต้นไม้ หรือขนย้ายนำไปพักฟื้นเรียบร้อยแล้ว ให้ รฟม. พิจารณาออกแบบสถานีรถไฟฟ้า หลีกเลี่ยงการล้อมย้ายต้นไม้เก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หากจำเป็น หรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขอให้มีรุกขกรที่ผ่านการรับรอง เป็นผู้ประเมินสุขภาพต้นไม้และให้ความเห็นประกอบการขออนุญาตล้อมย้ายต้นไม้กับหน่วยงานผู้รับผิดชอบต้นไม้ พร้อมเสนอแผนการล้อมย้ายและพักฟื้น ดูแลให้มีอัตราการรอดสูงสุด เพื่อนำมาปลูกคืนให้ กทม. ในอนาคต