หน้าแรกทั่วไปกทม. เร่งรับมือฝุ่น PM2.5 ตรวจเข้มแหล่งมลพิษ สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่ง สาธารณะ

กทม. เร่งรับมือฝุ่น PM2.5 ตรวจเข้มแหล่งมลพิษ สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่ง สาธารณะ

กดที่นี่เพื่ออ่านข่าว

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สวล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สสล. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มาตรการตรวจเข้มแหล่งกำเนิดมลพิษร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และกรมควบคุมมลพิษ ตรวจจับควันดำริมถนนประมาณ 27,000 คัน ตั้งแต่เดือน ต.ค.67 พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 146 คัน ตรวจรถโดยสารประจำทางและรถบรรทุกกว่า 14,000 คัน พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเกณฑ์มาตรฐาน 28 คัน รวมทั้งเชิญชวนประชาชนนำรถเข้ารับบริการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศ ณ ศูนย์บริการที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีรถเข้าร่วมแล้วกว่า 170,000 คัน

                   ส่วนมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) หากค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ใน 5 เขต ต่อเนื่อง 3 วัน และมีอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตร.ม./วินาที ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะประกาศห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ยกเว้นรถยนต์ไฟฟ้า แก๊ส NGV รถเครื่องยนต์ดีเซลมาตรฐาน EURO 5 – 6 และรถที่ลงทะเบียนบัญชีสีเขียวกับ กทม. โดยมีรถลงทะเบียนแล้วกว่า 12,000 คัน พร้อมทั้งขอความร่วมมือภาครัฐและเอกชนให้พนักงานปฏิบัติงานในที่พัก (WFH) ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเป็นเครือข่าย WFH กับ กทม. แล้วกว่า 90,000 ราย นอกจากนี้ ได้ประชาสัมพันธ์มาตรการลดฝุ่นในพื้นที่ เช่น ควบคุมมลพิษจากสถานประกอบการ โรงงาน แพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง และงดการเผาในที่โล่ง ขอความร่วมมือศาลเจ้า มูลนิธิ และวัด งดจุดธูปและเผากระดาษ ทางด้านมาตรการด้านสุขภาพ เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัด กทม. แจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK และประชาสัมพันธ์ข้อมูลการดูแลสุขภาพ

                  นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ. ให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง จึงได้ขับเคลื่อนมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยบูรณาการร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม หน่วยงานและส่วนราชการ องค์กรภาครัฐและเอกชน จัดทำแนวทางและกำชับให้โรงเรียนสังกัด กทม. ดำเนินการ อาทิ โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาลโรงเรียนในสังกัด กทม. จัดห้องปลอดฝุ่น (Clean Air Shelter) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามแนวทางคู่มือ “แนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พ.ศ. 2563” ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยปรับปรุงห้องเรียนอนุบาล 1,966 ห้อง ใน 429 โรงเรียนสังกัด กทม. ให้เป็นห้องเรียนปลอดฝุ่น พร้อมติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ระบบ INVERTER ระบบระบายอากาศ และติดตั้งอุปกรณ์วัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โรงเรียนวัดราชผาติการาม สำนักงานเขตดุสิต เป็นต้นแบบการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พร้อมยกระดับความรู้เด็กและเยาวชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” โดย สนศ. และภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในระดับนานาชาติ ผ่านโครงการ KOICA Blue Sky Project in Bangkok เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลีใต้และไทย ในการจัดประกวด English Environment Video Contest อบรมเชิงปฏิบัติการ “การประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศ” และการบริจาคเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM2.5 ให้กับ 12 โรงเรียนนำร่องสังกัด กทม. ทั้งยังจัดทำโรงเรียนต้นแบบ 7 แห่ง เตรียมขยายผลอีก 405 โรงเรียน นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมธงคุณภาพอากาศ 5 ระดับ พร้อมมาตรการเสริม เช่น งดกิจกรรมกลางแจ้ง จัดห้อง Safe Zone จัดเตรียมหน้ากากอนามัยสำหรับนักเรียน ให้ผู้บริหารสถานศึกษาประเมินสถานการณ์และพิจารณาปิดเรียน หรือเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในกรณีที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน

                   นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า สจส. ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเน้นส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอแนะมาตรการเร่งด่วน เช่น คุมเข้มรถควันดำ การทำงานจากที่บ้าน (WFH) และงดกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียน เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยมาตรการเชิงรุกที่ดำเนินการ ประกอบด้วย พัฒนาและส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีทอง รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) บริการส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งโดยรถเวียน (Shuttle Bus) และเรือโดยสารในคลองผดุงกรุงเกษมและคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังพัฒนาทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย ส่งเสริมการใช้จักรยานและบริการจักรยานเช่า (Bike Sharing) เพิ่มทางเท้าที่ปลอดภัย พร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว จัดงาน Car Free Day เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนงดใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น PM2.5 ทุกมาตรการที่ดำเนินการมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางอากาศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

Ad 1
Ad 2