มูลนิธิเอสซีจี เดินหน้าส่งเสริมแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอดในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้มีโอกาสต่อยอดทักษะและความสามารถ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำทักษะทั้ง Hard Skill และ Soft Skill มาใช้พัฒนาตนเองในแต่ละบริบทของสถานการณ์เพื่อให้อยู่รอดได้ โดยเฉพาะในแวดวงงานศิลปะ ในโครงการต่างๆ เช่นโครงการ “ยุวศิลปินไทย” หรือ Young Thai Artist Award เพื่อให้ศิลปินรุ่นเยาว์ได้มีพื้นที่แสดงผลงานเพื่อจะเป็นฐานและโอกาสที่จะได้พัฒนาความสามารถด้านศิลปะ เพื่อก้าวเข้าสู่วงการงานด้านศิลปะอย่างเต็มตัว โดยปีนี้ เป็นโอกาสพิเศษครบรอบ 20 ปี และได้ใช้วาระความพิเศษนี้ พูดคุยกับยุวศิลปินน้องใหม่เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรมและสาขาภาพยนตร์ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิด Learn to Earn และการใช้ทักษะทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ในการทำงานศิลปะของตนเอง
อติรุจ ดือเระ เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรม Young Thai Artist Award ประจำปี 2567 จากผลงาน “เริงรำและร่ำไห้ในรั้วบ้านเดียวกัน” เล่าว่าตนเองเป็นคนชอบเขียนมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่คิดมาก่อนว่างานเขียนจะส่งผลกับชีวิตตนเอง และกลายเป็นอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบันที่ทั้งงานประจำและงานเสริม ล้วนแต่เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านการเขียนด้วยกันทั้งคู่ สำหรับการทำงานในแวดวงหนังสือและการขีดเขียนนั้น อติรุจมองว่าจำเป็นต้องมีทักษะสำคัญๆ 3 ทักษะด้วยกัน นั่นคือ ทักษะด้านการเขียน ซึ่งเป็น Hard Skill ที่สำคัญ เพราะจะทำให้เรานำหน้าคนอื่นไปหนึ่งก้าว อีกสองทักษะที่จำเป็นคือทักษะ Soft Skill ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ หรือ Critical Thinking ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นกับทุกคนและทุกวัย อีกทักษะที่มองว่าจำเป็นคือเรื่อง empathy เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ควรมีและตัวเองก็พยายามฝึกให้มี เพราะการที่เราเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่คนอื่นต้องเผชิญ ทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจและมีความรู้สึกว่าอยากช่วยพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนทักษะ empathy ของตนเองนั้น จะออกมาในรูปของการเขียน หรือการร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือ เพราะการลงมือทำแม้เพียงน้อยนิด ไม่ได้เพียงแต่ทำให้ใจเราเป็นสุขแต่จะทำให้โลกใบนี้มีความน่าอยู่มากขึ้น
สำหรับแนวคิด Learn to Earn นั้น อติรุจมองว่ามีความสำคัญทั้งการเรียนรู้และการเก็บทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ AI กำลังเข้ามาท้าทายเราในหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้หรือทำได้แต่ยังไม่ดีมากพอ คืองานสร้างสรรค์ งานศิลปะ งานเขียนที่มีคุณภาพ ดังนั้นการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองด้านงานเขียนอยู่เสมอ จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราอยู่รอดได้ท่ามกลาง AI ที่กำลังพยายามทำทุกอย่างให้เหมือนมนุษย์หรือเหนือกว่ามนุษย์ ดังนั้นตนจึงมองว่า โจทย์สำคัญในมุมมองของตนเองคือมนุษย์จะเอาตัวรอดอย่างไรจากสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา อติรุจมีความคุ้นเคยกับเวทีประกวดมาเป็นเวลานาน เพราะเข้าสู่การประกวดตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่แม้ว่าจะต้องพบกับความผิดหวังมานานหลายปี แต่กลับรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่า ทักษะการเขียนของเขามีการพัฒนาขึ้นทุกครั้งที่ส่งผลงานเข้าประกวด และกล่าวได้ว่าทุกเวทีที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดต่างก็เป็นครูที่สอนให้ได้ learn จากคอมเมนท์ที่ได้รับ และนำมาพัฒนาทักษะฝีมือการเขียน จนสามารถ earn ความสำเร็จได้ในวันนี้จากรางวัลยุวศิลปินไทย
“เริ่มส่งงานเข้าประกวดมาตั้งแต่เด็กๆ ใช้ความพยายามอย่างมาก ไม่ใช่เพียงการเขียนเท่านั้นแต่ยังต้องมีความพยายามในการส่งผลงานประกวดอีกด้วย เพราะอยู่ต่างจังหวัดจะส่งผลงานแต่ละครั้งต้องเดินทางไปไปรษณีย์ที่อยู่ไกลจากบ้านมาก ทุกครั้งที่ส่งผลงานเข้าประกวดก็จะคิดเสมอว่าหากได้รางวัลก็ดี แต่ถ้าไม่ได้รางวัล การเข้าร่วมประกวดก็เป็นหนทางที่จะพัฒนาทักษะของตัวเราเอง”
อติรุจยังให้กำลังใจเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความกล้าก้าวออกจาก comfort zone เพื่อท้าทายตัวเองในเรื่องใหม่ๆ เพื่อให้รู้จักตัวเองได้มากขึ้น พร้อมทั้งเชิญชวนให้มาลองทำอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง ไม่ต้องถึงขั้นต้องได้รางวัล แต่ทำเพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง เพราะคอมเมนท์ที่จะได้รับนั้นจะดีต่อตัวเราและสามารถนำมาใช้พัฒนางานเขียนชิ้นต่อๆ ไปได้เป็นอย่างดี พร้อมกับแสดงความขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยธำรงให้ศิลปะยังคงเป็นงานที่เติบโตและงอกงามอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้
กัลปพฤกษ์ ติยะจามร บัณฑิตป้ายแดงจากรั้วพระจอมเกล้าลาดกระบัง เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ Young Thai Artist Award ประจำปี 2567 จากผลงาน “ไม่มีน้ำตาสำหรับคนยโส” เล่าให้ฟังว่าตนเองชอบและสนใจเกี่ยวกับการทำภาพยนตร์อยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสได้ทำหนังสั้นตอนที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้ทราบว่าความชอบนี้สามารถทำเป็นอาชีพได้ เลยให้ความสำคัญและจริงจังที่จะเรียนรู้เรื่องการผลิตภาพยนตร์มากขึ้น เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้มาเรียนด้านนี้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุได้ว่าชอบหรือถนัดงานส่วนไหนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นพิเศษ แต่ก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ยืนอยู่บนอุตสาหกรรมนี้ในตำแหน่งใดๆ สักวันหนึ่งในอนาคต
“ตอนเรียนได้เรียนทั้งส่วนของทฤษฎี แนวคิด และการปฏิบัติ การใช้เครื่องมือต่างๆ ได้นำทักษะความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาใช้กับสิ่งที่เราอยากเล่า ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบเรื่องราวทางสังคม โดยเฉพาะสังคมของคนภาคอีสานกับประเด็นปัญหาที่ต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เริ่มจากการมองตัวเองที่เป็นคนขอนแก่นแต่ต้องมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ พร้อมกับคำถามว่ามาทำไม? จากนั้นก็เก็บข้อมูลจากคนภาคอีสานด้วยกัน เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็ใช้ความรู้จากที่ได้เรียนมาทั้งกระบวนการของการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถอดความคิด และเขียนออกมาเป็นตัวอักษรก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพให้คนชมได้เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกมา และใช้ทักษะจากที่เคยมีประสบการณ์จากการออกกองถ่ายมาก่อน มาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการถ่ายทำ ทำให้การทำงานครั้งนี้ค่อนข้างจะราบรื่น”
การก้าวสู่ความสำเร็จของกัลปพฤกษ์ในวันนี้ เกิดจากการได้ลงมือทำจริงหลังจากที่ได้ learn แล้ว จนสามารถ earn ความสำเร็จที่ถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นชีวิตศิลปิน ภารกิจของเธอต่อจากนี้ไปคือการหาช่องทางที่จะก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์และจุดที่จะยืนในวงการเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป
กัลปพฤกษ์ยังบอกอีกว่า ตนเองได้ให้ความสำคัญกับการสังเกตคนหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งทักษะด้านการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเรานี้ มองว่าเป็นทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน เพราะการที่ได้มองรอบตัวเรานั้นจะพาไปสู่เรื่องใหม่ๆ ได้ เป็นการเปิดโลกและมุมมองให้กว้างมากขึ้น ซึ่งการหมั่นเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน นอกจากจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีแล้ว ยังสอดคล้องกับแนวคิด Learn to Earn ที่มุ่งเน้นให้คนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ดีแม้ว่าโลกปัจจุบันจะหมุนไปอย่างรวดเร็ว และหลายๆ คนก็ใช้ชีวิตหรือทำอะไรกันแบบรวดเร็วไปหมด แต่เธอกลับมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องวิ่งตามโลกด้วยความเร็วที่เท่ากัน เพราะการใช้ชีวิตให้ช้าลง ดูมือถือให้น้อยลง จะทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้มากขึ้น ทำให้มีเวลาสังเกตในรายละเอียด มีเวลาคิดและไตร่ตรองทุกอย่าง และทำให้มีสติมากขึ้น เมื่อจะลงมือทำอะไรก็ตาม ก็จะทำได้อย่างมีสติและประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
ติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ เพิ่มเติมได้ที่ www.scgfoundation.org
เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN และ TIKTOK: LEARNtoEARN
#LearntoEarn #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #รุ่นนี้ต้องรอด #มูลนิธิเอสซีจี