หน้าแรกเศรษฐกิจจุดประกายการพัฒนาเนื้อโคไทยสู่ครัวโลก

จุดประกายการพัฒนาเนื้อโคไทยสู่ครัวโลก

กดที่นี่เพื่ออ่านข่าว

จุดประกายการพัฒนาเนื้อโคไทยสู่ครัวโลก

 

วันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่เลดี้ บุชเชอร์ (Lady butcher) ร้านอาหารสไตล์ยุโรปชื่อดังย่านบางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ได้มีการประชุมของเครือข่ายโคเนื้อไทย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาราคาโคเนื้อและเนื้อโคตกต่ำ และการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดย น.ส.ณัฐธิดา หนูอินทร์ หรือเชฟณัฐ เจ้าของร้าน ได้กรุณาเอื้อเฟื้อสถานที่สำหรับเป็นที่ประชุม และร่วมประชุมด้วย โดยวันนี้ นายกิตติพัทธ์ เทียบประทานพร กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามบีฟ จำกัด และประธานเครือข่ายโคเนื้อไทย ได้นำสมาชิกเครือข่ายจากภูมิภาคต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ เครือข่ายชัยภูมิ นำโดยนายสมมัคร สุพรม รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรเเละเทคโนโลยีชัยภูมิ เเละนางสาวอภิสมา บรรเลงเสนาะ ครูแผนกวิชาอุตสาหกรรมอาหาร  สาขาวิชาอาหารเเละโภชนาการ สาขาวิชาเชฟอาหารไทย และได้นำหม่ำเนื้อซึ่งเป็นสินค้าที่ชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิ ที่ใช้เนื้อที่ผลิตจากบริษัทสยามบีฟ ทดลองทำเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ร่วมประชุมชิมพร้อมกัน เครือข่ายพัทลุง โดยนางจำเนียร เจียมสวัสดิ์ ประธานสหกรณ์โคขุนพัทลุงเลคบีฟ ได้นำเนื้อริบอาย เนื้อสันสะโพก และเนื้อสันคอ มาให้เชฟณัฐได้สาธิตการทำเมนูสเต็กเนื้อสูตรเด็ดที่มีรสชาติแตกต่างจากร้านอาหารทั่วไป

นาย กิตติพัทธ์ เทียบประทานพร กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามบีฟ จำกัด และประธานเครือข่ายโคเนื้อไทย กล่าวว่า วันนี้เครือข่ายโคเนื้อไทย ได้ผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ เริ่มตั้งแต่เครือข่ายเกษตรกรพัฒนาพันธุกรรมโคเพื่อผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพ การขุนโคด้วยสูตรอาหารเฉพาะที่พัฒนาและควบคุมโดยบริษัทสยามบีฟ เพื่อให้ได้เนื้อที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ  การแปรสภาพโคในโรงแปรสภาพมาตรฐาน GMP, HALAL การบ่มเนื้อตามรูปแบบมาตรฐานสากล วันนี้เราได้นำเนื้อที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของสยามบีฟ มาให้เชฟผู้มีความเชี่ยวชาญรังสรรค์เมนู

วันนี้วงการเนื้อบ้านเราสร้างมูลค่าของเนื้อดีแล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือการตลาด ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก ทางบริษัท สยามบีฟ จำกัด จึงผนึกกำลังรวมกับผู้ผลิตวัวที่ดี ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผ่านการบริหารจัดการโรงฆ่าที่ได้มาตรฐานตามระบบสากล แล้วมาสู่เมนูอาหารที่ถูกต้อง เราจึงมารวมตัวกันเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของเนื้อโคไทยในแต่ละภูมิภาค ยกตัวอย่างของพัทลุง ที่วันนี้สร้างเนื้อกลุ่มลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุง ที่เป็นอัตลักษณ์และมีข้าวสังข์หยดในสูตรอาหารสัตว์ จังหวัดราชบุรี ก็สร้างอัตลักษณ์เนื้อโคขุนจากข้าวหอมพันธุ์ ศฝ-107 จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นสูตรอาหาร ส่วนของจังหวัดชัยภูมิ ก็นำเนื้อที่เป็นอัตลักษณ์ตัวนี้ไปแปรรูปเป็นหม่ำชัยภูมิ ซึ่งวันนี้ทุกคนได้ลิ้มลอง และในวันข้างหน้าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเริ่มเดินตลาด โดยใช้สยามบีฟ และ lady butcher ผลักดันเรื่องเนื้อ และการแปรรูปสู่มาตรฐานต่าง ๆ ขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเชนของเนื้อเราจะส่งผลกับเกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคที่เราดูแลเป็นการยกระดับของโคเนื้อในประเทศไทย ที่วันนี้ประสบปัญหาเรื่องราคาอย่างมาก  วันนี้เรามาร่วมกันสร้างมูลค่าโดยใช้ตลาดนำการผลิตเพื่อให้เกิดผลที่แท้จริง

น.ส.ณัฐธิดา หนูอินทร์ หรือเชฟณัฐ กล่าวว่า วันนี้ดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมกับเครือข่ายโคเนื้อไทย ซึ่งมีสมาชิกจากทั่วประเทศ จากการที่เครือข่ายได้นำเนื้อโคที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เอามาให้ lady butcher รังสรรค์เมนู เช่นเนื้อโคจากพัทลุง ที่ขุนด้วยข้าวสังข์หยดซึ่งสังเกตว่าเป็นเนื้อที่สวยงามมากเป็นสีทองแวววาว ซึ่งฝรั่งบางคนหรือคนไทยบางคนจะรู้สึกว่าเนื้อนี้เป็นเนื้อเสีย ได้นำเนื้อส่วนนี้มาแปรรูปทำเป็น isann beef tartare ได้รสชาติออกมาค่อนข้างนุ่มและหอม มีกลิ่นของข้าวอยู่ในนั้นด้วย เมนูต่อมาได้เนื้อจากบริษัทสยามบีฟเป็นเนื้อทีโบน ริบอาย สันคอ มาทำสเต็ก ในส่วนสันคอเอามาทำเมนูสลัดยำเนื้อย่างเป็นสไตล์ไทย ที่ผ่านมาเคยไปแข่งขันรายการเชฟกระทะเหล็ก (Iron Chef Thailand)  ไม่ใข่เชฟสายเดินประกวด เพราะเป็นคนตัดแต่งชิ้นส่วนเนื้อวัวมาปรุงอาหารหรือเรียกว่า Chef Butcher แต่หลัก ๆจะไปโชว์ต่างประเทศ เช่นการสอนการตัดแต่งชิ้นส่วนวัวต่างๆ (Red Meat Showcase) และปัจจุบันได้เปิดโรงเรียน Lady Butcher Culinary Arts ด้วย สอนในเรื่องการตัดแต่งชิ้นส่วนเนื้อวัว ตั้งแต่หัวถึงหาง มีทั้งวัวขาหน้าและขาหลังเพื่อเอามาปรุงเป็นเมนูต่างๆ

สุดท้ายสำหรับผู้ที่ชื่นชอบสายเนื้อ ขอเชิญชวนมาชิมที่ lady butcher เปิดทุกอังคาร -อาทิตย์ โดยอังคาร – ศุกร์ เปิด 16.00 น.- 24.00 น. ถ้าวันเสาร์ – อาทิตย์ ร้านจะเปิดตั้งแต่เวลา 07.00 น.ถึงเวลา 22.00 น.สายเนื้อ สายสปาเก็ตตี้ สายสลัด สามารถมาเยี่ยมชมหรือแวะมาพูดคุยทักทายและแวะมาชิมอาหารที่ร้านได้โดยเชฟจะอยู่ที่นี่เป็นประจำทุกวัน

Ad 1
Ad 2