ประกาศ กฎ ก.ตร. “บุคคลล้มละลาย” ที่ไม่ได้จากกรณีทุจริต และไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดของตัวเอง สามารถรับราชการตำรวจต่อไปได้ มีผลตั้งแต่ 11 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป
วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎ ก.ตร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 (2) มาตรา 71 (5) และมาตรา 136 (3) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และมติ ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 จึงออกกฎ ก.ตร. ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎ ก.ตร. นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 4 แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2566 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย”
ข้อ 3 การใดอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2566 ก่อนวันที่กฎ ก.ตร. นี้มีผลใช้บังคับ การดำเนินการต่อไปสำหรับการนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.ตร. นี้
โดยเหตุผลของการประกาศใช้กฎ ก.ตร. ฉบับนี้ โดยที่ มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 เห็นชอบแก้ไขหลักการว่าการกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมายปัจจุบันหลายฉบับ ส่งผลให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและทำให้สูญเสียบุคลากรสำคัญผู้มีความรู้ความสามารถ ซึ่งการเป็นบุคคลล้มละลายไมได้ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานและเจ้าหนี้จะได้รับประโยชน์จากการเป็นลูกหนี้มีรายได้
ดังนั้นหากเป็นบุคคลล้มละลายที่ไม่ใช่กรณีทุจริต รวมทั้งที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดของตัวเอง เช่น เป็นผู้ค้ำประกัน ก็ควรให้รับราชการต่อไปได้ แต่หากเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ตามคำนิยามของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 นี่หมายความว่า บุคคลล้มละลายที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 163 ถึงมาตรา 170 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 นี้หรือเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาหรือการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ก็ควรสั่งให้ออกจากราชการ จึงเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎ ก.ตร.ดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 จึงจำเป็นต้องออกกฎ ก.ตร. นี้.